วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

PORSCHE CARRERA 993 GT2

PORSCHE CARRERA 993 GT2
ตัวเก็งรุ่น SUPER CAR จาก AAS AUTO SERVICE เวลาดี กับองค์ประกอบท ี่"ลงตัว"


นี้ ก็ขอพาไปชมรถในสไตล์ Circuit กันอีก ถือเป็นการเพิ่มความรู้ใหม่ๆ แปลก ไปจากเดิม นายแบบประจำฉบับนี้ก็เป็นรถจากค่าย PORSCHE ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะด้วยรูปทรง ลักษณะการวาง เครื่องยนต์ และรวมไปถึง "ลักษณะพิเศษในการขับขี่" ซึ่งไม่เหมือนรถธรรมดา บางท่านก็อาจจะว่า "รถ PORSCHE ขับยาก" แต่ ทำไมถึงมีคนชื่นชอบมากมายกันล่ะ มันจะต้องมีอะไรที่ "พิเศษ" ไปกว่าธรรมดาอย่างแน่นอน สำหรับเนื้อหาในคอลัมน์ก็คงจะขอ เล่าราย ละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการขับขี่รถ PORSCHE ประกอบกับรถคันนี้เป็นตัวแข่งในรุ่น Super Car ที่กำลังมาแรง เป็นผลิตผลจาก AAS AUTO SERVICE โดยผู้ขับขี่คือ "เสี่ยเต๊อะ" คุณวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ บอสใหญ่ของ PORSCHE ชื่อทีม SINGHA/BARAWINSOR/THE TIDE RESORT รถคันนี้ทำเวลาได้ดีที่สุด (ขณะการแข่งขัน) อยู่ที่ "1.01.5 วินาที" และ ทำเวลาได้สม่ำเสมอใกล้เคียงทุกรอบ เปล่าเลย รถคันนี้ไม่ได้มีแรงม้ามากที่สุดในสนาม แต่ด้วย "องค์ประกอบรถที่ลงตัว" และ "ผู้ขับที่เชี่ยวชาญ" แม่นยำ กับทีมงานที่มีประสบการณ์กับรถแบรนด์นี้โดยตรง รวมๆ แล้วก็ "ออกมาดี" เราลองมาดูกันว่า เจ้า PORSCHE คันนี้ จะมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง...

ทำสไตล์ 993 GT2 EVO


สำหรับตัวรถเอง ก็จะย้อนยุคไปเล่นกับบอดี้ "993 GT2" ที่ออกมาตั้งแต่ช่วงปี 1995 ซึ่งในขณะนี้บอดี้ใหม่ก็ไปถึง "997" กันแล้ว เหตุที่ซื้อรุ่น 993 ก็เพราะอยากทำเป็นเวอร์ชั่น "993 GT2 EVO" รถตัวนี้มันจะเป็นรุ่นพิเศษ ผลิตเพื่อให้ผ่าน Homologate ในการแข่งขันประเภทต่างๆ จุดแตกต่างแบบหลักๆ ก็จะมีส่วนของ "ภายนอก" ที่เป็น Wide Body สปอยเลอร์ขนาดใหญ่ ภายในเป็น Lightweight ล้อเป็น BBS Le Mans เบาะ Bucket Seat ช่วงล่าง Racing แล้วก็มี Road Version ออกมาจำนวน 57 คัน เป็นรถที่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย 50 คัน เป็นพวงมาลัยซ้าย อีก 7 คัน เป็นพวงมาลัยขวา เครื่องยนต์ 3.6 ลิตร 430 แรงม้า พอในปี 1998 ก็อัพเกรดเป็น 450 แรงม้า (ข้อมูลจาก Wikipedia) สำหรับรถคันนี้ ก็กะจะสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับตัว GT2 EVO (ตอนแรกว่าจะซื้อรถแท้ แต่ซื้อยาก) โดยชุดพาร์ทต่างๆ ก็ทำเอาในเมืองไทยนี่เอง อ้อ เกือบลืมพูดไป รูปร่างของ 993 ถ้าดูกันจริงๆ แล้วจะกะทัดรัด สั้น ทำให้ได้เปรียบในช่วงทางโค้งเยอะๆ อย่างในสนามพีระฯ ก็เป็นเหตุผลหลักที่เลือกมาทำ...

Complete Racing Engine from PORSCHE Germany

สำหรับเครื่องยนต์ ก็จะเป็นแบบ Flat 6 หรือ "หกสูบนอน" ตามสไตล์ PORSCHE ที่คุ้นเคยกันมานาน เครื่องตัวนี้ข้อมูลอาจจะ ไม่มีอะไรมากนัก เพราะเป็นส่วนที่ทางแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ PORSCHE ในเยอรมนี ผลิตมาแบบ Complete Engine ทั้งตัว โดยทาง AAS ได้สั่งให้ทำสเป็กที่รองรับกับสภาวะสนาม และอุณหภูมิในเมืองไทย (ปกติเค้าจะทำสเป็กสำหรับวิ่งในโซนยุโรปเป็นหลัก) แล้วเค้าก็จะทำมาให้ พื้นฐานของเครื่อง จะเป็นแบบง่ายๆ ระบบฝาสูบจะยังเป็นแบบ 2 วาล์วต่อสูบ รวมทั้งหมด 12 วาล์ว แคมชาฟท์เดี่ยว เหนือฝาสูบ (SOHC) ทั้งเครื่องก็จะมีแคมชาฟท์ 2 แท่ง แล้วทำไมถึงเรียกเป็น SOHC เพราะฝาสูบมี 2 อัน แคม 1 แท่ง ต่อ 1 ฝา สรุปก็คือ "เป็นแคมเดี่ยวในแต่ละฝา" ถ้าเป็นเครื่อง DOHC ใน 1 ฝา จะต้องมีแคม 2 แท่ง 2 ฝา ก็ 4 แท่ง หรือบางเจ้าก็เรียกว่า Four Cam หรือ Quad Cam ก็ได้ ก็หมายถึง แคม 4 แท่ง เป็นอันเข้าใจกัน ไม่สับสนไปคนละทิศทาง...



หลายท่านอาจจะนึกอยู่ในใจว่า ทำไมถึงเอาเครื่อง 12 วาล์ว มาแข่ง แต่ด้วยเหตุผลว่า "ต้องการ แรงบิด แรงม้า มาเยอะๆ ในรอบ ไม่สูงมาก" เครื่องลักษณะนี้ตอบสนองได้ดีกว่า ก็จะทำให้ทนทาน ขับง่าย กดก็มา ไม่ต้องรอรอบ เครื่องตัวนี้จะมี "ระยะรับประกัน" (Warranty) จากบริษัทแม่ในเยอรมนี เรียกว่ามาแล้วแข่งอย่างเดียว ห้ามรื้อ ถ้าเสียหายในระยะรับประกันก็ส่งเครื่องกลับไป เค้าจะเคลม "เครื่องใหม่" มาให้ นอกจากนี้ ยังมีการ Back up เก็บข้อมูลต่างๆ ในสภาวะการแข่งขันจริง (Race Condition) กลับไป เริ่มกันด้วย เรื่องอุณหภูมิต่างๆ ชนิดเชื้อเพลิง หลังแข่งก็ต้องวัด "อัตราการรั่วไหลในกระบอกสูบ" อันนี้ยังต้องมีการเก็บค่าต่างๆ อีกมากมาย เพื่อส่ง ข้อมูลกลับไปที่เยอรมนี เพื่อเป็นข้อมูลในการ Service เครื่องตัวนี้ต่อไปในอนาคต...



สำหรับรายละเอียดการโมดิฟายเครื่องยนต์ อาจจะไม่ค่อยมีนัก เพราะเครื่องตัวนี้ทาง PORSCHE จัดมาให้ เราไม่สามารถไปยุ่ง อะไรกับมันได้ จริงๆ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพื้นฐานเดิม ปรับปรุงเพียงบางจุดให้เหมาะสม พูดถึงข้อดีของเครื่อง PORSCHE จะออกแบบ มาให้ "อัด" ยาวๆ อยู่แล้ว อย่างเช่นต้องวิ่ง Cruising ความเร็วสูงๆ ตอนอยู่บนทางด่วน Autobahn เครื่องยนต์จึงต้องออกแบบให้ ทนได้ รอบไม่สูงมาก แต่ได้ความเร็วและอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง ถ้าดูตามลักษณะแล้ว เครื่องตัวนี้ก็ไม่ได้โมดิฟายมากมาย ขั้นเทพ อะไร นัก หน้าตาเดิมๆ ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าแรง แต่ดูพื้นฐานของมันก็มาดี ตั้งแต่ระบบ Dry Sump ที่มีมาให้เลย และเน้นระบบ Oil Cooler ก็จะช่วยให้เครื่องไม่ร้อนเกินที่กำหนดมา พวกโครงสร้างภายในก็จะทำมาเผื่อความแข็งแรงไว้เยอะ อย่างพวก Main Bearing ก็จะมี จำนวนมากกว่า มีขนาดใหญ่ แต่ขอบอกว่านี่คือเครื่องที่ขายทั่วไปก็จะเป็นแบบนี้ด้วย ซึ่งทาง PORSCHE ได้เผื่อไว้ไกลเกินกว่า มาตรฐานไปเยอะ เสียค่า Research มากมาย นี่เป็นเหตุว่าทำไมรถระดับ Super car ถึงมีราคาแพง เป็นค่าที่เรามองไม่เห็นภายนอก แต่จะคุ้มค่า "เมื่อได้ขับ" เท่านั้น...

อีกอย่างก็คือ เครื่องตัวนี้ยังเป็นระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled) ดังนั้น น้ำหนักจึงน้อย เพราะไม่ต้องมีอุปกรณ์น้ำ หล่อเย็นมาถ่วงให้หนักรถขึ้นไปอีกมาก ตั้งแต่น้ำ หม้อน้ำ ท่อทางต่างๆ ปั๊มน้ำ ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยให้รถเบา และทำเวลาได้ดีขึ้น แต่เครื่องตัว นี้ ทาง AAS บอกมาเลยว่า "ไม่ได้แรงมาก" แรงม้ายังน้อยกว่ารถแข่งในคลาสเดียวกันอยู่เยอะ เพียงแต่อาศัยความทนทานของมัน ทำให้ เครื่อง "เสถียร" วิ่งได้ครบรอบโดยไม่พัง กำลังไม่ตก เรียกว่าค่า Drop out ของรถน้อยมาก มาจากการที่ไม่ได้ "เค้นกำลัง" อย่างบูสต์ก็ อยู่แค่ "0.7 บาร์" แค่นั้นเอง แรงม้าเต็มที่ก็อยู่แถวๆ "ห้าร้อย" แต่เป็นแรงม้าที่ไม่ต้องเค้น จึงสามารถอยู่ได้จนจบการแข่งขัน...

ช่วงล่าง LRZ ชุดละ "เกือบล้าน"

สำหรับระบบช่วงล่าง ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อการแข่งขัน ใช้โช้คอัพของ LRZ ยี่ห้ออาจจะไม่คุ้น ส่วนราคาก็ขนลุก อยู่ในระดับ "สี่ดุ้นเกือบล้าน" เข้าไปโน่น ถามว่าดียังไง ทีมงานบอกว่า สามารถปรับค่าได้มาก ทั้ง Bump และ Rebound แยกกัน อันนี้คงรู้จักกัน ไปบ้างแล้ว สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมาก็คือ ปรับค่าความแข็งของจังหวะ Low Speed และ High Speed สองคำนี้ "ไม่ได้หมายถึง ความเร็ว ของรถ" นะครับ แต่หมายถึง "ความเร็วในการทำงานของช่วงล่าง" อย่างกรณีกระแทกแรงๆ เช่น โดด Bank ในสนาม ช่วงล่าง "เคลื่อนที่เร็ว" ตามแรงกระแทก อันนั้นแหละครับ High Speed ส่วน Low Speed ก็จะเป็นการที่ช่วงล่าง "เคลื่อนที่ช้า" อย่างทาง เรียบ ไม่ขรุขระมาก อะไรทำนองนั้น ซึ่งตรงนี้อยู่ที่คนขับชอบ แต่สไตล์ของคันนี้ ก็จะปรับค่า High Speed ไว้ไม่แข็งมาก เพราะถ้า ปรับแข็งมากๆ เวลา "โดดแบ๊งค์" ใน S1 หรือ S2 (สนามพีระฯ) รถจะ "ลอย" มากเกินไป ทำให้คุมยาก ก็เลยปรับค่าไว้ไม่แข็งมาก ซึ่งเป็นสไตล์ของ "เสี่ยเต๊อะ" ที่ชอบรถขับง่ายไว้ก่อน...
ระบบช่วงล่าง PSA พัฒนาใหม่ แก้ปัญหา "ยกแล้วหมุน" ในโค้ง
ถ้าใครเคยขับ PORSCHE รุ่นเก่าๆ บางท่านอาจจะเคยเจอปัญหา "ยกหรือเบรกรถในโค้งแล้วหมุน" อย่างในกรณีที่เข้าไปแล้วเจอ สิ่งกีดขวาง พอเข้าแรงๆ ยกคันเร่งเพื่อลดความเร็ว ปรากฏว่า "ตูดส่าย" หรือแรงๆ ก็ "หมุน" ออกไปเลย จากในสมัยก่อน PORSCHE จะใช้ช่วงล่างหลังอิสระ แบบ Trailing Arm ซึ่งตอนรถ "ยุบ" จังหวะเร่ง น้ำหนักถ่ายมาหลัง ช่วงล่างถูกกดลงไปจากจุดปกติ มุมล้อก็จะเป็น "โท-อิน" (Toe-in) ดูตามรูปครับ ก็คือ ด้านหน้าของล้อจะ "สอบ" เข้าหากัน (เหมือนกับคุณยืน แล้วหันปลายเท้าเข้าหากัน คล้ายๆ คนพิการ อันนั้นแหละครับโท-อิน) ข้อดีก็คือ ตอนเข้าโค้ง ล้อด้านนอกโค้งที่จะต้องรับน้ำหนัก รถวิ่งเป็นมุมโค้ง มีแรงส่งจากด้านตรงข้าม มุมโท-อิน ที่ล้อสอบเข้า มันจะ "ขวาง" ไว้ ทำให้รถไม่ไหลออกไปจากโค้ง ถ้านึกภาพตามจะเห็นได้ชัดครับ ไม่ต้องเง็ง...
ส่วนตอน "ยกคันเร่ง" หรือ "เบรก" ด้านหลังลอยขึ้น ด้วยมุมของช่วงล่าง จะทำให้เกิด "โท-เอาท์" (Toe-out) ตรงกันข้ามกับโท-อิน คือ ด้านหน้าล้อจะ "กาง" ออก (ยืนปกติ ปลายเท้าจะชี้ออกห่างกัน ยกตัวอย่างแบบนี้จะเห็นได้ชัดมาก) ตอนเลี้ยวแล้วยกคันเร่ง หรือ เบรก น้ำหนักกดไม่มี เกิดมุมโท-เอาท์ ขึ้น จะกลายเป็นล้อหลังทำมุมออกไปตามโค้ง ก็คือ "ช่วยเลี้ยว" โดยไม่จำเป็น ก็ทำให้รถ "ท้ายหลุด " ออกไป (ถ้าเข้าเร็ว) ซึ่งจริงๆ แล้ว จะขับให้มันไม่หลุดก็ได้ครับ เพียงแต่ "อย่ายกกลางโค้ง" ผู้ขับจะต้อง "วางแผนล่วงหน้า" ก่อนจะ เข้าโค้ง คือจะต้องป้อนคำสั่งคันเร่ง (Input) ไม่มีการยก หรือเบรก ไม่งั้นรถเสียอาการ คือต้อง "เดินคันเร่งอย่างเดียว" ทั้งตอนเข้าและ ออก มุมล้อก็จะถูกกดให้เป็นโท-อิน ตลอด ทำให้รถเกาะโค้งเข้าไปได้ ต้องวางแผนครับ ไม่ใช่โยนเข้าไปแล้วไปแก้ในโค้ง คนขับที่รู้นิสัย ก็จะต้องยึดหลักตรงนี้ครับ ถึงจะไปได้อย่างปลอดภัย... แต่ช่วงล่างของ PORSCHE รุ่นหลังๆ (รวมถึง 993 คันนี้ด้วย) ก็ได้พัฒนาใหม่ จะเป็นแบบ "PSA" (Porsche Strut Axle) หรือดูไปดูมา ก็คือระบบ "Double Wishbone" นั่นเอง ก็คือพัฒนาใหม่ ให้ทั้งจังหวะยุบและยืด มุมล้อก็จะเป็นโท-อิน ทั้งคู่ อย่างใน กรณีที่ต้องยกคันเร่ง ก็ยังคงการยึดเกาะไว้ได้อยู่ ทำให้ขับง่ายขึ้นเยอะ คือทำให้คนที่ไม่ได้เก่งมากก็ยังขับได้อยู่ ดังนั้น การขับ PORSCHE ก็จะต้อง "รู้จักรถ" ให้ถ่องแท้ นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม Super car ต่างๆ จึงต้องจัด Training Course สำหรับลูกค้าที่ ซื้อรถ เพราะจะต้องหัดขับให้ถูกหลัก มันไม่ง่ายเหมือนขับรถบ้าน พวกนี้ถ้าหลุดแบบ Hi-Speed ก็จะแบบ "ไม่หลุดก็ไม่หลุด แต่พอ หลุดแล้วหลุดแรง" ก็ต้องมีการจัดอบรมในการขับขี่ให้ถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้แล...

เครื่องท้าย Down Force without Mass เบรกลึก ออกเร็ว
มาดูกันต่อในลักษณะการวางเครื่องยนต์ของ PORSCHE ในกลุ่ม CARRERA ที่จะเป็น "เครื่องท้าย" หลายคน ก็ยังคิดว่า "มันจะเลี้ยวไปได้ไงวะ" เพราะลักษณะของรถ "ตูดหนัก หน้าเบา" เราคงคิดกันว่า หน้าเบาจะลอย เลี้ยวยาก เพราะไม่มีแรงกด แต่ความ เป็นจริง มันสามารถไปได้เร็ว ??? ต้องมีเหตุผลสิครับ ว่าทำไมเค้าวางเครื่องอยู่ท้าย สำหรับคนขับที่ "รู้จักนิสัยรถ" ก็จะมีวิธีการ "ขับ" ให้ถูกหลักของรถลักษณะนี้ โดยปกติแล้ว น้ำหนักด้านหน้าจะเบา เพราะไม่มีเครื่องกดอยู่ ถ้าเข้าแบบรถทั่วไป น้ำหนักหน้าไม่มี แรงกดก็ น้อย หน้าก็จะลอย ทำให้เข้าโค้งไม่ดี หรือเร็วมากๆ ก็หน้าแหกออกไปเลย ไม่เลี้ยว แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ...
ถ้ามารูปนี้ เราก็ต้องใช้วิธี Trail Braking ก็คือ "เบรกกับเลี้ยวพร้อมๆ กัน" พอวิ่งมาแล้วก็ "เบรกแรงและลึก" พร้อมกับเลี้ยวไปด้วย เนื่องจากการเบรก เราสามารถถ่ายเทน้ำหนัก (Weight Transfer) จากด้านท้ายมาด้านหน้าได้ (น้ำหนักมันถ่ายเทได้ครับ อันนี้ทุกคน ทราบดีอยู่แล้ว) ยิ่งเบรกแรงเท่าไหร่ น้ำหนักก็จะมาตกที่ "ข้างหน้า" มากขึ้น เพื่อเพิ่ม "แรงกด" (Down Force) ให้หน้ายางกดกับถนน เพิ่มการยึดเกาะให้มากขึ้น รถก็จะเลี้ยวได้ แต่ข้อได้เปรียบของ PORSCHE ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ "สามารถเพิ่มน้ำหนักกดได้ โดย ปราศจากมวล" หรือ Down Force without Mass ปกติแล้ว ถ้าเราจะให้น้ำหนักตกหน้า รถเครื่องวางหน้าจะอาศัย "น้ำหนักที่เกิด จากมวลวัตถุ" มาช่วยกด ก็คือเครื่องยนต์ กดไว้เพื่อให้ล้อหน้ามี Traction ยึดเกาะในการเลี้ยวได้ แต่รถ PORSCHE ไม่มีเครื่องมา คอยกดอยู่ข้างหน้า แต่เราสามารถ "เพิ่มแรงกด" ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มมวลน้ำหนักจากวัตถุใดๆ เราจะอาศัย "การถ่ายเทน้ำหนักจาก หลังมา หน้า" โดยการเบรกอย่างที่บอกไป ตอนนี้ มีน้ำหนักกดหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยที่มวลยังเบาเท่าเดิม ก็จะทำให้ "เลี้ยวได้เร็ว" เร็วกว่ารถที่มี น้ำหนักตกหน้ามาก พวกนั้นจะมีแรงเหวี่ยงมาก ทำให้ความฉับไวสู้แบบ Down Force without Mass ไม่ได้...
การที่รถสามารถเบรกและเลี้ยวพร้อมกันได้ เราก็จะสามารถเบรกได้ลึกกว่าปกติ ก็จะมีผลได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ เครื่องท้าย สามารถส่งกำลังตรงไปยังเพลาข้างออกสู่ล้อได้เลย โดยไม่ต้องมีเพลากลาง ดังนั้นการ Lost ของกำลังจะมีน้อยลงมาก (เช่นเดียวกับรถ เครื่องหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถเครื่องวางกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง อย่างพวก MR2, NSX) ส่วนที่ได้แน่ๆ ก็คือ Traction ที่ "ล้อหลัง" เพิ่มขึ้น เพราะมีน้ำหนักเครื่องกดอยู่ ตอนที่กำลังจะ "ยิง" ออกโค้ง สามารถ "กดคันเร่งเต็ม" ได้เร็วกว่า เพราะมีน้ำหนัก ถ่วง ท้ายเพิ่มขึ้นไปอีกจากการเร่ง ก็จะเพิ่ม Traction ขึ้นมาอีก ยิ่งกดคันเร่ง ก็จะยิ่งทำให้ท้ายกด ส่งผลให้ล้อไม่ฟรี และท้ายไม่เสียอาการ สามารถยิงออกโค้งสู่ไลน์ทางตรงได้เร็วกว่า...
การขับขี่รถที่มีเครื่องท้ายต่างๆ ก็จะอาศัยหลักตรงนี้ด้วย "ก่อนจะเข้าโค้ง จะต้องมีการวางแผนก่อน" จะเบรกก็เบรกครั้งเดียว จะเดิน คันเร่งก็ทำให้ถูกจังหวะเพียงครั้งเดียว ถ้าเข้ามาแล้วผิดจังหวะ เช่น เบรกแล้วปล่อย แล้วค่อยเลี้ยว อันนั้นจะทำให้ "เสียจังหวะ" ปล่อย เบรก หน้ารถก็ลอยขึ้น ทำให้เสีย Down Force ยิ่งถ้าไปเติมคันเร่ง หน้าก็ยิ่งลอย ยังงี้รถจะ "ไม่อยากเลี้ยว" ทำให้ "เข้าและออก โค้งได้ ช้า" การขับรถที่มีลักษณะนี้ ผู้ขับขี่จะต้องใช้การกะเกณฑ์ให้มากขึ้น เพราะถ้าเสียจังหวะจะทำให้ควบคุมรถได้ไม่ดีเลย ถ้าขับแบบ ถูกจัง หวะ เข้าและออกให้ถูกหลัก ตัวรถก็จะสามารถเลี้ยวได้เร็ว ทำให้ได้เปรียบคันอื่นในการเข้าโค้ง...
อีกอย่างหนึ่งก็คือ "การเบรก" ถ้ารถที่เครื่องหน้า พอเบรกแรงๆ ท้ายก็จะยก ทำให้น้ำหนักกดหายไป ถ้าเบรกแรงๆ โอกาสที่ "ล้อหลัง ล็อก" ก็จะมีอยู่ (อยู่ที่การเซ็ตเบรกด้วย ถ้า "ให้หลัง" มากไป ก็จะทำให้ล้อหลังล็อกได้ง่าย) ถ้าเบรกแรงๆ แล้วเลี้ยวด้วย โอกาส "ท้ายออก" ก็ยิ่งมีมาก (พูดถึงหลักๆ นะ แต่การเซ็ตรถก็สามารถแก้อาการได้พอสมควร อยู่ที่องค์ประกอบหลายอย่าง) แต่รถเครื่องท้าย น้ำหนักเครื่อง ที่กดไว้ ท้ายจะไม่กระดกมาก ยังมีแรงกดอยู่ที่ล้อหลัง ประกอบกับล้อหลังใช้ "ยางใหญ่" มีการยึดเกาะสูง โอกาสล้อล็อกจึงมีน้อย สามารถ ใช้เบรกหลังขนาดใหญ่ได้ ระยะเบรกก็ลดลง ลดภาระให้เบรกหน้า และสามารถเลี้ยวไปด้วยได้ นี่คือข้อดีของรถ PORSCHE ที่ใช้เครื่องวางท้าย...
จากข้อที่หลายคนว่าขับยาก ถ้าคนขับเข้าใจรถ ก็จะขับได้ดี เร็ว ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นรถชนิดใดก็ตาม และการ "ถ่ายเทน้ำหนัก" ต้อง ทำให้ถูก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำคัญกับรถทุกประเภทด้วย จริงๆ การ Trail Braking รถที่วางเครื่องหน้าก็สามารถทำได้ มันสามารถ เซ็ตได้ครับ เพียงแต่ PORSCHE เค้าสร้างมาให้ขับอย่างนี้เลย ตั้งแต่ยังเป็นรถสแตนดาร์ด อย่างรถคันนี้ คนขับก็เข้าใจรถ จึงสามารถ ทำให้ "เร็วในโค้ง" ได้ แรงม้าไม่ได้เยอะมาก แถมโดนถ่วงน้ำหนักไปอีก 200 กว่า กก. เพื่อให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 ตัน ตามกฏ (รวมคนขับ นะ) ความเร็ว "สุดทางตรง" ก็ไม่ได้มากอะไรนัก อยู่แถวๆ 210 กม./ชม. ไม่ได้มากไปกว่าคันอื่นในรุ่นการแข่งขันเดียวกัน แต่ด้วยความ ที่มัน "เร็วในโค้ง" ก็สามารถทำเวลาได้เร็วและเสถียร เลยเป็นจุดดีที่น่าจะนำเสนอของรถคันนี้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น