วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การใช้รถ สำหรับคุณผู้หญิง #5

พฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่เป็นสุภาพสตรี เวลาที่จะต้องนั่งขับรถยนต์ส่วนใหญ่ จะปรับเบาะนั่งให้เลื่อนมาอยู่ใกล้พวงมาลัย ด้วยเหตุผลว่า มองเห็นทางด้านหน้ารถได้มาก การหักเลี้ยวพวงมาลัยก็กระทำได้อย่างสะดวก การเหยียบเบรก และคันเร่งก็กระทำได้อย่างสะดวก อะไรทำนองนั้น ผู้เขียนไม่ขอเถียง แต่การกระทำตามที่กล่าวมานั้น ไม่ค่อยถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะการกระทำดังกล่าว มีความแฝงในเรื่องความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น

การที่ปรับเบาะนั่งขับเข้าไปใกล้กับพวงมาลัยนั้น ท่านจะเห็นพื้นที่ทางด้านข้างลดลง การหยิบสิ่งของภายในรถก็ไม่ง่ายเหมือนกับเลื่อนเบาะนั่งถอยหลัง ก็เพราะว่าอุปกรณ์และสิ่งของนั้นไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ตัวเราเองจะต้องเคลื่อนที่ไปหา อะไรทำนองนี้ นอกจากนั้น ถ้ามีการเอียงตัวมากๆ การมองเส้นทางด้านหน้าก็ด้อยลง เพราะต้องละความสนใจจากเส้นทาง มายังอุปกรณ์นั้น ในการใช้งาน อีกประการหนึ่ง ในการเอื้อมมาหยิบสิ่งใดสิ่งหนึ่งขณะขับขี่อยู่นั้น บางครั้งอีกมือที่เหลือที่จับพวงมาลัยอยู่ จะถูกหมุนมาในทิศทางของการเอี้ยวตัว ตรงนี้เองอาจทำให้พวงมาลัยถูกเลี้ยวไปด้วย ซึ่งก็มีการเกิดขึ้นลักษณะนี้มาแล้วพอสมควร มีตัวอย่างจากเพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่งได้มีการเดินทางโดยรถยนต์ แล้วนำโทรศัพท์มือถือ วางไว้บริเวณคอนโซลกลาง เมื่อมีโทรศัพท์ดังขึ้นจึงได้รับสายแต่ขณะที่กำลัง เอียงตัวไปหยิบโทรศัพท์ มือขวาที่จับพวงมาลัยอยู่ ถูกหมุนไปพร้อมกับการเอียงตัวจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางด้านซ้ายของรถยนต์ และนี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็เป็นผู้ชายเสียด้วย แล้วลองพิจารณาดูนะครับถ้าเป็นสุภาพสตรีจะขนาดไหน

อันดับต่อไปขอเข้าสู่ประเด็นหลัก ที่จะกล่าวถึงก็คือ การนั่งชิดพวงมาลัยมากๆ สำหรับรถยนต์ที่มีถุงลมนิรภัยจะมีอันตรายมากทีเดียว เนื่องจากว่าถุงลมนิรภัยที่มีในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่ จะมีการพองตัวจากการระเบิดเพียงแค่ระดับเดียว หมายความว่ามีความรุนแรงที่แรงและรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าหากเราอยู่ใกล้ชิดพวงมาลัยมากเท่าไรความรุนแรงที่ได้รับก็จะมากนั่นเอง นอกจากนั้นโอกาสที่ร่างกายบริเวณหน้าอกจะไปกระแทกกับพวงมาลัยก็มีอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าระบบปกป้องที่อยู่ที่แกนของพวงมาลัยจะมีอยู่แล้วก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่อย่ามองข้ามก็คือจังหวะที่เรากำลังจะเกิดการชนซึ่งเราก็จะต้องเหยียบเบรก เมื่อเหยียบเบรกเท้าเราจะอยู่ที่คันเบรก หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับมาก ขาอาจหักได้ แต่ในรถยนต์โตโยต้าที่มีการจำหน่ายในปัจจุบัน มีการบรรจุระบบปกป้องนี้ไว้ในรถยนต์ทุกรุ่นหากมีการชนที่รุนแรง ขาเบรกจะยุบตัวได้นั่นเอง เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่

ในเมื่อกล่าวถึง การนั่งชิดพวงมาลัยแล้วกล่าวถึง ทำให้นึกถึงรถยนต์รุ่นหนึ่งที่ทางโตโยต้ามีการจำหน่าย ( ยกเว้นรถยนต์ LEXUS ) จะมีอยู่รุ่นหนึ่ง ที่มีการระเบิดของถุงลมนิรภัยเป็นไปตามการระยะของการนั่งขับ นั่นก็คือ “ LAND CRUISER PRADO “ ซึ่งจะมีการทำงานของถุงลมนิรภัยจะมีความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะการขับขี่ หมายความว่า ถ้าผู้ขับขี่นั่งขับใกล้กับพวงมาลัย เวลามีการทำงานของถุงลมนิรภัย จะมีการระเบิดในระดับที่เบาคือไม่รุนแรงมากนัก แต่หากผู้ขับขี่นั่งขับอยู่ห่างพวงมาลัยมาก ระดับความรุนแรงจากการระเบิดของถุงลม จะมีความรุนแรงอย่างเต็มที่ ส่วนรถยนต์ยี่ห้ออื่นผู้เขียนคิดว่ายังไม่มีอย่างแน่นอน

จุดประสงค์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้น เพื่อให้มีความปลอดภัยเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่แต่ ณ โอกาสนี้ ค่อนข้างจะเน้นไปทางผู้ขับขี่ที่เป็นสุภาพสตรี เพราะสุภาพบุรุษส่วนมาก แทบจะนอนขับเลยไม่เหมือนกับผู้หญิง ที่นั่งตัวตรงแล้วชิดพวงมาลัย จนบางครั้งไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับรถยนต์ที่ขับขี่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือน หรือ สัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นบนมาตรวัด เช่น
*เตือนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้หมด บางครั้งขับจนดับไปเลยก็มี
*เตือนความร้อนขึ้นสูง บางครั้งขับจนดับไปเลยก็มี
*เตือนปิดประตูไม่สนิท ขับเรื่อยไปจนมีคนมาทักก็มี

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากไม่เหลียวมองมาตรวัดบ้างขณะขับขี่ ซึ่งลักษณะของการนั่งขับแบบชิดพวงมาลัยนั้น ก็เป็นสาเหตุที่จะนำพาไปสู่ปัญหาให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด อย่างไรแล้วขอให้ผู้อ่านที่เป็นสุภาพสตรี ทดลองฝึกให้นั่งขับขี่ห่างจากพวงมาลัยอีกสักนิด เพื่อจะได้ปลอดภัยมากขึ้น ครั้งแรกๆ อาจไม่ชิน แต่พอนานไปการขับขี่ก็จะคล่องขึ้นตามลำดับ ทางผู้เขียนคิดว่า ทำได้ทุกท่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น