วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

COLORADO SUPER CAR

COLORADO SUPER CAR by PTT
จากกลิ่นอายของสนาม SUPER CAR ที่เร่าร้อน และได้แข่งกันไปเมื่อที่ผ่านมา ทางทีมงานของเรามีโอกาสได้ไปร่วมชมการแข่งขันแล้วก็มีโอกาสได้ติดต่อรถแชมป์ในรุ่นกระบะดีเซลที่สังกัดอยู่ในทีมของ PTT มาลงให้เพื่อน ๆ ได้สัมผัสถึงความแรงของรถแข่งในสนามทางเรียบกันบ้าง
เครื่องยนต์ 4JK1-TC 2,500 ซี.ซี.

จากเครื่องยนต์ 4JK1 สแตนดาร์ด 116 แรงม้า กับแรงบิด 29 กิโลกรัม-เมตร กับระบบเทอร์โบแปรผัน VGS เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานธรรมดาถือว่า COLORADO มีระดับความแรงที่ไม่ขี้เหร่ แต่ถ้าเทียบกับการนำ COLORADO มาใช้งานในรูปแบบของการแข่งขันในรายการใหญ่ ๆ แบบ SUPER CAR THAILAND นี้ เครื่องยนต์ระดับ 116 แรงม้า คงจะไม่ได้ขึ้นไปยืนโพเดียมอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 2 สนามแบบนี้
สำหรับเครื่องยนต์ใน CHEVROLET COLORADO ของบอย ขจรศักดิ์ ณ สงขลา ที่สังกัดทีม PTT นี้ได้มีการโมฯ ระบบอัดอากาศใหม่ยกยวง ถอดชุดเทอร์โบแปรผัน VGS ออก ยัดเทอร์โบใหม่ที่ยกมาจาก MITSUBISHI EVOLUTION IX รหัส TD05 H แต่ทำการโมฯ เปลี่ยนใบหน้าให้เป็นไปตามกติกาการแข่งขันของ SUPER CAR THAILAND ที่กำหนดให้ใช้ใบหน้าไม่เกิน 42 มิลลิเมตร ส่วนใบหลังและโข่งหลังก็เปลี่ยนตามสูตรให้ได้ช่วงการตอบสนองตามที่ต้องการ สำหรับการติดตั้งเทอร์โบของ EVO IX เข้าไปกับเครื่องยนต์นั้น ทางอู่หนุ่มที่รับผิดชอบเรื่องการทำรถทั้งคันให้กับ บอย ขจรศักดิ์ ณ สงขลา ก็ทำการขึ้นเฮดเดอร์มาใหม่ให้รับกับเทอร์โบ แล้วก็มีการไหลโฟล์วของไอเสียที่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็ทำการเดินท่อทางในระบบอากาศพร้อมกับทำการเปลี่ยนอินเตอร์คูลเลอร์ไปใช้ของ GARRETT เพื่อระบายความร้อนให้อากาศ ส่วนการคุมบูสต์ก็ใช้เวสต์เกตของ HKS คุมบูสต์ให้คงที่อยู่ที่ 30 ปอนด์ (ประมาณ 2 บาร์กว่า ๆ)
เครื่องยนต์ 4JK1 ตัวนี้ นอกจากจะทำการโมดิฟายระบบอัดอากาศแล้ว ยังได้มีการโมฯ ให้ระบบเชื้อเพลิงจ่ายเชื้อเพลิงได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการส่งกล่อง ECU เดิมของ 4JK1 ไปให้กับทาง PEAK POWER ทำการโมฯ Rom ให้ใหม่ ทำให้ในระบบเชื้อเพลิงมีการจ่ายเชื้อเพลิงผ่านหัวฉีดออกไปในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหลังจากการโมฯ Rom มาแล้วนั้น ก็จ่ายในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้ ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป
Trip
สำหรับเครื่องยนต์ในรถกระบะที่เป็นระบบคอมมอนเรลของยุคปัจจุบันนี้เป็นระบบที่ใช้ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงแบบไฟฟ้า ควบคุมการจ่ายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่แตกต่างกับปั๊มแบบกลไกตรงที่ไม่สามารถโมดิฟายปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงให้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการเปลี่ยนอุปกรณ์ในตัวปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงได้ หากต้องการจะให้มีการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นได้ ก็ต้องทำการแก้ไขโปรแกรมในตัวกล่อง ECU ให้สั่งจ่ายเชื้อเพลิงในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการสั่งให้หัวฉีดยกนานขึ้น (แบบนี้เรียกว่าการโมฯ Rom) หรือไม่อีกวิธีก็คือ ใช้วิธีดึงสัญญาณของกล่องเดิมออกไปขยายความถี่ของสัญญาณเพื่อยืดระยะเวลาการยกของหัวแดให้มีระยะเวลาการยกที่นานขึ้น สำหรับการดึงสัญญาณในกรณีที่ 2 นี้ ก็จะดึงกันที่ปลั๊กหัวฉีดเดิมออกไปขยาย แล้วจึงส่งกลับเข้ามาที่หัวฉีด เพื่อสั่งให้หัวฉีดยก ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ก็มีจุดดีที่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเลือกใช้แบบไหน แต่โดยรวม ๆ แล้ว ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ออกมานั้นก็เป็นในทิศทางเดียวกัน
ระบบส่งกำลังเกียร์เดิม คลัตช์ ISUZU TROOPER
CHEVROLET COLORADO คันนี้ ระบบส่งกำลังยังคงใช้โครงสร้างเดิม คือใช้เกียร์เดิม อัตราทดเดิม แต่ทำการปรับปรุงชิ้นส่วนในระบบให้ส่งกำลังได้ดีขึ้น ด้วยการเปลี่ยนชุดคลัตช์ไปใช้ของ ISUZU TROOPER จากนั้นก็ทำการเปลี่ยนชุดเฟืองท้ายพร้อมกับชุดลิมิเต็ดสลิปไปใช้ของ NISSAN TURANO อัตราทด 3.7:1 ที่มีความเหมาะสมกับการแข่งขันที่มีทั้งทางตรง และทางโค้งในรูปแบบของเซอร์กิต สามารถส่งถ่ายกำลังงานลงสู่พื้นแทร็กได้ดีและต่อเนื่อง
ระบบรองรับน้ำหนักดัดแหนบ โช้ก OBITS
"ช่วงล่าง" สำหรับรถแข่งทางเรียบในรูปแบบของเซอร์กิตนั้น เรื่องความนุ่มนวลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องพูดถึง รถประเภทนี้ไม่ต้องการ สิ่งที่ต้องการคือการยึดเกาะที่ดีที่สุด การตอบสนองก็ต้องดีในทุกช่วงเวลาของการแข่งขัน สำหรับในรถคันนี้ ทางอู่หนุ่มได้ทำการปรับปรุงช่วงล่างใหม่ยกชุด ทำการปรับปรุงด้วยการดัดแหนบให้มีการยึดเกาะที่ดีขึ้นและทำให้ตัวรถต่ำลง เมื่อตัวรถต่ำลง จุด CG ก็จะถูกย้ายให้ต่ำลงไปด้วย สำหรับการดัดแหนบนี้ นอกจากจะได้เรื่องตัวรถและจุด CG ที่ต่ำลงแล้ว แหนบที่ถูกดัดก็จะมีความแข็งมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้แรงกดระหว่างล้อกับพื้นผิวมีมากขึ้น รวม ๆ แล้ว ทั้งหมดทำให้การยึดเกาะดีขึ้น และนอกจากดัดแหนบให้มีความแข็งมากขึ้นแล้ว รถคันนี้ยังได้มีการเปลี่ยนโช้คไปใช้โช้คที่มีแรงกดเพิ่มมากขึ้นและมีการตอบสนองที่ดีทั้งจังหวะ Bump และ Rebound ซึ่งโช้คที่ใช้นั้นเป็นโช้คของ OBITS ทั้งในล้อหน้าและล้อหลัง สำหรับล้อที่ใช้ในการแข่งขันใช้ล้อ 4x4 Engineering พร้อมกับยาง BFGoodrich g-Force Sport ในระบบเบรกหน้า-หลังก็ยกเอาของ ISUZU TROOPER ที่เป็นแบบดิสก์เบรกมาใช้ทั้งชุด

บอดี้

บอดี้ของรถคันนี้อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า เป็นรถที่ใช้แข่งขันในรายการ SUPER CAR THAILAND บอดี้รถทั้งหมดจึงถูกลอกคราบเพื่อทำการลดน้ำหนัก ภายในห้องโดยสารรื้ออุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกจนหมดเกลี้ยง ทั้งแผงประตูและพรมพื้น แต่คอนโซลยังไม่มีการรื้อและดัดแปลง ยังอยู่ครบ แอร์ยังเย็นฉ่ำ ยังมีชุดวิทยุอยู่เหมือนเดิม สำหรับในห้องโดยสารนอกจากจะรื้อของที่ไม่จำเป็นออกแล้ว ในห้องโดยสารก็ได้เสริมอุปกรณ์ในเรื่องความปลอดภัยเข้าไปตามกติกาของการแข่งขัน นั่นก็คือชุดโรลบาร์และถังดับเพลิง, ชุดสวิตช์ตัดไฟ เบาะที่ใช้เป็นเบาะที่ให้ความกระชับสูงของ OMP พร้อมกับเบลท์แบบ 5 จุดของ WILLANS พวงมาลัยก็เปลี่ยนเป็นแบบก้านยกของ OMP ช่วยให้การควบคุมรถทำได้ง่ายขึ้น สำหรับชุดเกจ์วัดของรถคันนี้ นอกจากจะใช้เกจ์วัดในคอนโซลเดิมของ COLORADO แล้ว ยังได้เพิ่มเกจ์วัดเข้าไปอีก 2 ตัว คือ เกจ์วัดบูสต์ และเกจ์วัดอุณหภูมิน้ำของ AUTO METER ที่ให้ความเที่ยงตรงสูง
ในส่วนของบอดี้นี้ เมื่อจบจากห้องโดยสารก็ออกมาด้านนอก สำหรับบอดี้ด้านนอกของรถคันนี้ก็เน้นตามหลักของอากาศพลศาสตร์ ลดแรงต้านทานในการเคลื่อนที่ให้เหลือน้อยที่สุด แต่ก็ต้องยังมีความปลอดภัยสูงสุดอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการ ทางอู่หนุ่มจึงได้ติดตั้งแผ่นปิดกระบะท้ายช่วยลดแรงต้านทานการเคลื่อนที่จากลมให้มีน้อยลง จากนั้นก็ทำการใส่หางหลังสร้างแรง Down Force ในขณะรถเคลื่อนที่ ทำให้มีแรงกดท้ายเกิดขึ้น ส่งผลให้ท้ายรถไม่ย้วยไปย้วยมา เวลาวิ่งด้วยระดับความเร็วสูง นอกจากจะได้เรื่องของความปลอดภัยแล้ว ก็ยังได้เรื่องของความสวยงามเสริมขึ้นมาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น