วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฮอนด้า แจ๊ซ ใหม่ จิ๋วแจ๋วยกระดับ

Honda Jazz i-VTEC ขนาด 1.5 ลิตร

ตลาดรถขนาดเล็กหรือซับ คอมแพกต์ของบ้านเรา นับสิบปีที่ผ่านมามีเพียงแค่รถยนต์นั่งแบบซีดานครองตลาดนี้อยู่แบบเดียว จนกระทั่ง ฮอนด้า ตัดสินใจนำ “ฮอนด้า ฟิต” รถแบบ 5 ประตู แฮทช์แบ็กเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยโดยใช้ชื่อว่า “ฮอนด้า แจ๊ซ”

แรกเริ่มเดิมที ฮอนด้า ประเทศไทย ลังเลและหวั่นใจอยู่ไม่น้อยว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่จากกระแสตอบรับในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถทำยอดขายเป็นอันดับ 1 แซงแชมป์ตลอดกาล โตโยต้า โคโรลล่า ได้เป็นครั้งแรก ทำให้ฮอนด้ากล้าลุยแล้วผลก็คือ ยอดขายถล่มทลายตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2004 ปลุกกระแสรถ 5 ประตู จนคู่แข่งต้องออกรถใหม่มาลุยตลาดด้วย

หลังจากทำตลาดมานาน 4 ปี “ฮอนด้า แจ๊ซ” ได้ฤกษ์เปิดตัวใหม่แบบโมเดลเชนจ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการคว้ายอดจองจำนวน 5,000 คัน ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนหลังการเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ ณ ไบเทค แม้ยอดจองจะล้นเพียงใด แต่ตามแนวปฏิบัติของฮอนด้า หลังเปิดตัวไม่นานจะต้องมีการ

ภายนอก
ฮอนด้า แจ๊ซ ได้รับการออกแบบใหม่หมด โดยรวมอาจจะมองว่า คล้ายคลึงกับรถรุ่น เอ-คลาส ของค่ายดาวสามแฉก ซึ่งเราก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน แต่วิศวกรฮอนด้ายืนยันว่าไม่เกี่ยวกันแต่อย่างใด จุดเด่นของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไฟหน้าใหญ่ขึ้น ไฟท้ายทรงสปอร์ต และเมื่อลองเทียบกันจะเห็นได้ชัด แจ๊ซใหม่ดูใหญ่กว่าเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากมิติตัวถังได้รับการขยายให้กว้างกว่ารุ่นเดิม 20 มม. ส่วนฐานล้อขยายให้ยาว(จากหน้ารถถึงหลังรถ)ขึ้นอีก 50 มม. และเพิ่มระยะห่างระหว่างล้อหน้า(ซ้ายถึงขวา)อีก 35 มม. ส่วนล้อหลังเพิ่ม 30 มม. รวมถึงยางถูกวางอยูในตำแหน่งมุมสุดทั้ง 4 ด้านของตัวถัง ขณะที่ความสูงเท่าเดิม จึงทำให้แจ๊ซใหม่ดูอวบขึ้น ภายใน
เริ่มที่แผงคอนโซลหน้า เปลี่ยนโฉมจากรุ่นเดิมไปพอสมควรโดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกชอบรุ่นที่แล้วมากกว่า พวงมาลัยที่คล้ายกับซีวิคแต่วิศวกรของฮอนด้าการันตีว่า ต่างกัน ปุ่มปรับแอร์เป็นแบบมือหมุน ต่างจากเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่เป็นระบบอัตโนมัติ ทำให้ความสวยลดลง
ซึ่งเราถามทีมวิศวกรว่าทำไมจึงตัดแอร์อัตโนมัติออกคำตอบคือ ตอนแรกมีความตั้งใจจะนำมาใส่อยู่เหมือนกัน แต่เพราะไทยฤดูกาลไม่เหมือนญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องใช้, รถคู่แข่งก็ยังไม่มีใช้ และสุดท้ายเพื่อลดต้นทุน ดังนั้นเวอร์ชั่นไทยจึงเป็นแบบมือหมุน

และยังมีอีกจุดหนึ่งซึ่งไทยเวอร์ชั่นแตกต่างกับญี่ปุ่นคือ แจ๊ซไทยจะมียางอะไหล่ ขณะที่ญี่ปุ่นจะเป็นที่เก็บของแบบ 2 ชั้นแล้วใช้ชุด ไทร์ฟิกซ์ (Tyre Fix) ในกรณียางรถยนต์มีปัญหา
แต่ใช่ว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะดีกว่าเสมอไป เนื่องจากเวอร์ชั่นไทยมีออพชั่นที่มากกว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นอยู่หลายอย่าง ได้แก่ จานเบรกมีขนาดใหญ่กว่า, ยางใหญ่กว่า, ใช้วัสดุเก็บเสียงดีกว่า และมีช่องต่อ USB ซึ่งวิศวกรชาวญี่ปุ่นถึงกลับบอกว่า ถ้าให้เขาเลือก แน่นอนเขาจะซื้อแจ๊สเวอร์ชั่นไทยอย่างไม่ต้องสงสัย (ไม่รู้พูดเอาใจเราหรือเปล่า)

สำหรับจุดเด่นของภายในคือการเพิ่มอรรถประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น อาทิ ที่วางแก้วน้ำ 10 จุด ซึ่งมีสื่อมวลชนที่ร่วมทดสอบบางท่านแซวว่า “รถยนต์แค่นั่ง 4-5 คน จะวางแก้วน้ำทำไมตั้ง 10 ใบ” ส่วนเบาะนั่ง เราได้ลองนั่งแล้วทั้งเบาะหน้าและเบาะหลังรู้สึกว่า นั่งสบายดี โดยเฉพาะเบาะหลังที่นั่งนุ่มกว่ารุ่นที่แล้ว การันตีจากผู้โดยสารซึ่งนั่งแจ๊ซรุ่นเดิมเป็นประจำทุกวัน ซึ่งร่วมเดินทางนั่งทดสอบไปกับเราในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เบาะนั่งดูจะเป็นสิ่งที่ฮอนด้า ภูมิใจนำเสนอมากที่สุด โดยเบาะนั่งหลังสามารถพับอย่างง่ายดายด้วยมือเพียงข้างเดียว เพิ่มพื้นที่ในการเก็บสัมภาระ พร้อมกับกล่องเก็บของพิเศษใต้เบาะนั่งหลัง เพิ่มความอเนกประสงค์
เครื่องยนต์
หัวใจของแจ๊ซ ใหม่ นั้นบรรจุอีกขั้นของระบบวีเทคอันเลื่องชื่อ ด้วย i-VTEC ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 120 แรงม้า ที่ 6600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร ที่ 4800 รอบ/นาที ควบคุมการทำงานของลิ้นปีกผีเสื้อด้วยอิเล็กทรอนิกส์(DBW) และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดน้ำมันด้วยการลดแรงเสียดทานของชิ้นส่วนเครื่องยนต์
เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่หลายรายการ อาทิ ระบบปรับตั้งความตึงอัตโนมัติของสายพาน, ระบบควบคุมอัตราส่วนผสมของน้ำมันและอากาศแบบคู่ พร้อมเซ็นเซอร์ LAF และออกซิเจน เซ็นเซอร์ ทั้งหมดนี้ทำให้แจ๊ซใหม่ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ ยูโร 4
สมรรถนะ
สำหรับเส้นทางการทดสอบครั้งนี้ ฮอนด้า เลือกจังหวัดเชียงรายเป็นที่หมาย โดยให้เราได้สัมผัสกับแจ๊ซ ใหม่เป็นระยะทางรวมประมาณ 90 กม. ผ่านเส้นทางที่ค่อนข้างเรียบของถนนลาดยางมะตอยที่การจราจรไม่พลุกพล่านสักเท่าไหร่
เมื่อนั่งประจำหลังพวงมาลัย ปรับเบาะนุ่มๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม พวงมาลัยให้ความรู้สึกกระชับมือดี พร้อมการตอบสนองอย่างเบามือและแม่นยำกว่ารุ่นเดิม สบายใจได้สำหรับคุณผู้หญิงตัวเล็กๆ รับรองไม่มีกล้ามขึ้นแน่นอน
เข้าเกียร์เดินหน้า ด้วยระบบเกียร์ชุดใหม่แบบอัตโนมัติ 5 สปีด (ของเดิมเป็นแบบซีวีที 7 สปีด)ซึ่งเซ็ทมาเป็นพิเศษสำหรับเมืองไทย กดคันเร่ง ความเร็วจะเป็นลักษณะค่อยๆ ขึ้นไปตามลำดับ ไม่กระโชกโฮกฮาก หรือรอรอบแต่อย่างใด แม้แต่การคิกดาวน์ก็ไม่มีการกระชาก จะมีเพียงเสียงของเครื่องยนต์ที่รู้สึกว่าจะดังกว่ารุ่นเดิมเมื่อเร่งเครื่องทะลุ 3000 รอบ/นาทีขึ้นไป ซึ่งเสียงดังนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับตัวเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่เราเคยลองขับ
แจ๊ซใหม่ยังคงให้ความรู้สึก วิ่งนิ่ง มั่นใจเต็ม100% เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. เสียงรบกวนมีบ้างเล็กน้อยไม่ถึงขึ้นรำคาญใจ ซึ่งทางวิศวกรของฮอนด้าบอกว่า “เราสามารถลดเสียงดังในห้องโดยสารลงถึง 4 เดซิเบลเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม” จากการใช้วัสดุคุณภาพดีขึ้นและการออกแบบเครื่องยนต์ใหม่
ด้านของทัศนวิสัย ในการขับขี่คือ สิ่งที่เราชอบมากเป็นพิเศษจากกระจกที่ใหญ่และมีขนาดพื้นที่มากขึ้น ทำให้มองเห็นสิ่งต่างได้ชัดเจน รวมถึงตำแหน่งของเสา A ที่ไม่บดบังการมองเวลาเลี้ยว แต่ก็มีสื่อมวลชนที่ร่วมทดสอบบางท่านให้ความเห็นในลักษณะไม่ชอบกระจกเยอะ เนื่องจากเมืองไทยมีสภาพอากาศร้อน อีกอย่างที่เราชอบคือรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดเพียง 4.9 เมตร กลับในถนนแค่2 เลนได้สบายๆ
ส่วนการเกาะถนนทำความประทับใจให้กับสื่อมวลชนที่ร่วมทดสอบหลายๆ ท่านรวมถึงเราด้วย จากความรู้สึก นุ่มและกระเทือนน้อยกว่ารุ่นเดิม แต่การขับขี่ให้ความรู้มั่นคง ทรงตัวดี เกาะทุกโค้งด้วยช่วงล่างใหม่ แบบแม็กเฟอร์สันสตรัทที่ด้านหน้าและแบบทอร์ชั่นบีมแบบ H-shape ที่ด้านหลัง
ซึ่งหัวใจสำคัญของการปรับช่วงล่างให้ดีขึ้นนั้นเราแอบล้วงความลับจากวิศวกรมาดังนี้ “ฮอนด้าก็แค่เปลี่ยนสปริงให้มีความนุ่มมากขึ้น ส่วนการเกาะถนนที่ทำให้รถทรงตัวดีขึ้นเราใช้เหล็กกันโคลงที่มีขนาดใหญ่และคุณภาพดีๆ เอามาใส่ ” หลังจากทำความคุ้นเคยกันมาได้สักพักใหญ่ๆ เราลองปรับโหมดเกียร์เป็น S แล้วใช้ปุ่ม Paddle Shift ที่ติดตั้งหลังพวงมาลัยในการปรับเปลี่ยนเกียร์ ความสนุกอีกรูปแบบหนึ่งของการขับรถก็เกิดขึ้น ด้วยช่วงจังหวะของการเปลี่ยนเกียร์ที่ยาวกว่าโหมด D อัตราเร่งจี๊ด จ๊าดโดนใจวัยโจ๋อย่างแน่นอน
บทสรุป เราสิ้นสุดการเดินทางด้วยความรู้สึก “ดีใจที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กมีการพัฒนาดีขึ้นอย่างชัดเจน” สำหรับแจ๊ซ ใหม่ รองรับเชื้อเพลิงชนิดอี20 ทำให้รถมีราคาถูกลง กับค่าตัวเริ่มต้น 5.5 แสนบาท ถึง 6.95 แสนบาท นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนสนใจรถเล็กห้ามมองข้ามเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น